อภิธานศัพท์ (ทัศนศิลป์)




โครงสร้างเคลื่อนไหว (mobile)

      เป็นงานประติมากรรมที่มีโครงสร้างบอบบางจัดสมดุลด้วยเส้นลวดแข็งบาง ๆ ที่มีวัตถุรูปร่าง รูปทรงต่าง ๆ ที่ออกแบบเชื่อมติดกับเส้นลวด เป็นเครื่องแขวนที่เคลื่อนไหวได้ด้วยกระแสลมเพียงเบา ๆ

งานสื่อผสม (mixed media)


      เป็นงานออกแบบทางทัศนศิลป์ที่ประกอบด้วยหลายสื่อโดยใช้วัสดุหลาย ๆ แบบ เช่น กระดาษ ไม้ โลหะ สร้างความผสมกลมกลืนด้วยการสร้างสรรค์


จังหวะ (rhythm)


     เป็นความสัมพันธ์ของทัศนธาตุ เช่น เส้น สี รูปร่าง รูปทรง น้ำหนักในลักษณะของการซ้ำกัน สลับไปมา หรือลักษณะลื่นไหล เคลื่อนไหวไม่ขาดระยะจังหวะที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันจะช่วยเน้นให้เกิดความเด่น หรือทางดนตรีก็คือการซ้ำกันของเสียงในช่วงเท่ากันหรือแตกต่างกันจังหวะให้ความรู้สึกหรือความพอใจทางสุนทรียภาพในงานศิลปะ


ทัศนธาตุ (visual elements)


     สิ่งที่เป็นปัจจัยของการมองเห็นเป็นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพ ได้แก่ เส้น น้ำหนัก ที่ว่าง รูปร่าง รูปทรง สี และลักษณะพื้นผิว

ทัศนียภาพ (perspective)


     วิธีเขียนภาพของวัตถุให้มองเห็นว่ามีระยะใกล้ไกล

ทัศนศิลป์ (visual art)


    ศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยการเห็น ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และงานสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่รับรู้ด้วยการเห็น


ภาพปะติด (collage)


    เป็นภาพที่ทำขึ้นด้วยการใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า เศษวัสดุธรรมชาติ ฯลฯ ปะติดลงบนแผ่นภาพด้วยกาวหรือแป้งเปียก

วงสีธรรมชาติ (color circle)


    คือวงกลมซึ่งจัดระบบสีในแสงสีรุ้งที่เรียงกันอยู่ในธรรมชาติ สีวรรณะอุ่น จะอยู่ในซีกที่มีสีแดงและเหลือง ส่วนสีวรรณะเย็นอยู่ในซีกที่มีสีเขียว และสีม่วง สีคู่ตรงข้ามกันจะอยู่ตรงกันข้ามในวงสี


วรรณะสี (tone)


     ลักษณะของสีที่แบ่งตามความรู้สึกอุ่นหรือเย็น เช่น สีแดง อยู่ในวรรณะอุ่น (warm tone) สีเขียวอยู่ในวรรณะเย็น (cool tone)


สีคู่ตรงข้าม (complementary colors)


    สีที่อยู่ตรงกันข้ามกันในวงสีธรรมชาติเป็นคู่สีกัน คือ สีคู่ที่ตัดกันหรือต่างจากกันมากที่สุด เช่น สีแดงกับสีเขียว สีเหลืองกับสีม่วง สีน้ำเงินกับสีส้ม


องค์ประกอบศิลป์ (composition of art)


    วิชาหรือทฤษฎีที่เกี่ยวกับการสร้างรูปทรงในงานทัศนศิลป์